“บิ๊กตู่” ชื่นชม The Ease of Doing Business 2020 อันดับไทยดี – ตั้งเป้าจีดีพีปี 64 โต 4%

Latest World

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 08.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในรายการ “PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง” ทางเพจไทยคู่ฟ้า ถึงการปรับปรุงการทำงานการบริหารราชการแผ่นดินสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลว่า ตอนที่ตนได้เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งสำนักงานสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เพื่อทำงานเรื่องการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและสร้างความปรองดอง วันนี้จะขอนำผลสำเร็จบางประการที่ได้ทำไปแล้วมาเล่า ส่วนรายละเอียดทั้งหมดสามารถดูได้ที่เว็บไซต์รัฐบาลไทย thaigov.go.th

เริ่มต้นด้วยผลการสำรวจการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ The Ease of Doing Business 2020 หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปี 2020 ไทยอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก ดีกว่าหลายหลายประเทศ เช่น เยอรมนี แคนาดา ญี่ปุ่น จีน และสวิตเซอร์แลนด์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในเรื่องการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการติดต่อและพิจารณาการอนุญาตของทางราชการ เราได้ลดการใช้สำเนาเอกสาร สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น จากประชาชนไปถึง 1,212 รายการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 530 ใบอนุญาต จาก 58 หน่วยงาน ลดขั้นตอนการให้บริการต่างๆ เช่น การสมัคร และการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จาก 60 นาที เหลือ 15 นาที การทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 44 ฉบับ จากที่พบทั้งหมด 84 ฉบับ ส่วนที่เหลือเรากำลังเร่งดำเนินการต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า การเข้าถึงบริการภาครัฐเชื่อมโยงผ่านระบบ e-Service และ e-Document มีการพัฒนาระบบทางธุรกิจที่เรียกว่า Bit Portal ซึ่งจะออกหนังสือรับรองใบอนุญาตต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเราทำครอบคลุม 78 ใบอนุญาต ใน 25 ประเภทธุรกิจ เช่น ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร การยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบศูนย์กลางการให้บริการประชาชนหรือ Citizen Portal ที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่สามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล การชำระภาษีรถประจำปีให้เร็วขึ้นง่ายขึ้นและถูกลง ซึ่งจะพร้อมให้บริการในเดือนพฤษภาคมนี้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการติดต่อราชการ รัฐบาลได้ทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุมัติอนุญาตของทางราชการ โดยปรับลดการจัดเก็บแล้ว 5 ใบอนุญาต จาก 3 หน่วยงาน เช่น ใบอนุญาตนำสัตว์ออกจากราชอาณาจักรของกรมปศุสัตว์ ใบอนุญาตขายทอดตลาดและกลุ่มของเก่าของกรมการปกครอง ซึ่งรวมกันแล้วจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบราชการรัฐบาลได้จัดโครงการ My Better Country Hackathon เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาประเทศซึ่งได้รับเรื่องไปดำเนินการแล้วหลายเรื่อง เช่น การพัฒนาระบบจ่ายยาให้ประชาชนเลือกได้ว่าจะรอรับยาที่โรงพยาบาลหรือขอรับคิวอาร์โค้ดใบสั่งยา เพื่อไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน นอกจากนี้เรายังได้นำข้อคิดเห็นของสมาชิกหอการค้าต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยไปปรับปรุงการทำงาน เช่น การลดขั้นตอนวิธีการศุลกากรการค้าผ่านแดนอาเซียนและปรับปรุงกระบวนการอนุมัติอนุญาตขององค์การอาหารและยา (อย.)

นายกฯ กล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรบุคคลภาครัฐเช่น การเร่งปรับลดขนาดกำลังคนให้เหมาะสม เพื่อลดภาระประมาณในระยะยาว โดยเราตั้งเป้าว่าจะลดค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐลงเหลือ 30% ของรายจ่ายประจำ ภายใน 5 ปี และการพัฒนาบุคลากร โดยใช้ระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อปฏิบัติงานและให้บริการประชาชน รวมถึงการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม ผ่านพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม สำหรับบุคลากรภาครัฐ โดยให้มีบทลงโทษที่รุนแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดตั้งแต่แรก

นายกฯ กล่าวอีกว่า เป้าหมายที่ท้าทายในปี 2564 คือการมีจีดีพีเติบโต 4% สำหรับปัจจัยแรก คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูต่างๆ ทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยว เช่น การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการมาตรา 33 เรารักกัน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งก็จะพยายามทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน โครงการอีอีซี เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โครงการพื้นฐาน 5G การสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ และธุรกิจใหม่เช่น e-commerce การส่งเสริมพลังงานสะอาด โรงไฟฟ้าขยะครบวงจร ที่จะสร้างเม็ดเงินการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท ทางรัฐบาลจะเร่งรัดและติดตามแผนอย่างใกล้ชิด

“ทั้งนี้รัฐบาลจะสนับสนุนการลงทุนใน อุตสาหกรรมใหม่คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์และการดูแลสุขภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเราจะเน้นโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ของไทยที่เรียกว่า BCG Economy เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่มีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง”นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ในวาระเร่งด่วนรัฐบาลจะปรับแก้ไขการปรับปรุงเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง การปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น การตกลงทางการค้าเสรีเพื่อเพิ่มโอกาสการค้าและการลงทุนและยกระดับการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีศักยภาพและได้รับประโยชน์จาก โควิด-19 เพื่อขยายตลาดส่งออกใหม่ควบคู่ไปกับการเร่งรัดพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานสากล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่สอง การบริหารจัดการด้านสังคม ที่ผ่านมานั้นเรามีนโยบายและโครงการที่เป็นรูปธรรมหลายเรื่องหลายโครงการ เช่นบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย การเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลในบัตรทอง 50 รายการ การจัดสรรที่ดินทำกินแก่เกษตรกร การคืนโฉนดให้กับประชาชนผู้ยากไร้ การปราบปรามหนี้นอกระบบ การแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 58 ชนิด การจัดตั้งการออมแห่งชาติของการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ การเพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็น 600 บาทให้ถึง6 ปี การเพิ่มเบี้ยคนพิการ จาก 800 บาทเป็น 1,000 บาทต่อเดือน

https://siamrath.co.th/n/228910