วิจัยกรุงศรีปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีไทย-ยันเงินเฟ้อไม่น่ากังวล

ข่าวล่าสุด

 

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เปิดเผยว่า วิจัยกรุงศรีฯได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มกลับสู่ระดับก่อนการระบาดในช่วงครึ่งหลังปี 2565 โดยเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 1.2% (เดิมคาด 0.6%) จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ราว 1.5% QoQ (จาก -1.1% ในไตรมาส 3) หรือ +0.8% YoY ปัจจัยหนุนจากการปรับดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนที่เร่งขึ้น ผนวกกับยังมีแรงส่งจากมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ล่าสุดวันที่ 1-20 พฤศจิกายน จำนวนรวม 80,017คน) ทำให้ทั้งปีคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 0.35 ล้านคน (เดิมคาด 0.15 ล้านคน) อีกทั้งการส่งออกยังเติบโตดีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และการผ่อนคลายลงของภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ส่งผลให้การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวสูงที่ 16.5% (เดิมคาด 15.0%)

สำหรับปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องที่ 3.7% (เดิมคาด 3.0%) และมีแนวโน้มที่ GDP จะกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี เร็วกว่าที่คาดไว้เดิมประมาณ 2 ไตรมาส จากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญมาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนมาชัวร์เบทมีแนวโน้มปรับดีขึ้นแต่การฟื้นตัวยังมีความแตกต่าง คาดว่าในปี 2565 จะเติบโตราว 3.6% จากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุม การฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และมาตรการภาครัฐที่อาจเป็นปัจจัยหนุนในระยะสั้นอยู่บ้าง แต่การใช้จ่ายอาจขยายตัวได้จำกัดเนื่องจากยังมีความเปราะบางในตลาดแรงงาน และคาดว่าค่าจ้างเฉลี่ยโดยรวมในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่ยังไม่กระจายไปในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มรายได้ และทุกสาขา จะส่งผลต่อค่าจ้างและการใช้จ่ายของแรงงานในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตการระบาด โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ด้านภาคส่งออกแม้จะชะลอลงบ้างแต่คาดว่ายังเติบโตได้ 5.0% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ขยายตัว 2.9% แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากมีการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางมากขึ้น กอปรกับผลบวกจากการรวมกลุ่มระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเดียวกัน (Regionalization) โดยเฉพาะ RCEP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2565 น่าจะมีส่วนเสริมภาคการค้าในระยะถัดไป จากผลการศึกษาของ ADB ประเมินว่า RCEP จะช่วยหนุนให้มูลค่าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น 4.9% ภายในปี 2573 ซึ่งแม้เป็นรองญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่สูงสุดเมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียน ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าเติบโตดีขึ้นเป็น 4.6% อานิสงส์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยหนุนให้เกิดวัฏจักรขาขึ้นของการลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal) และการก้าวไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงบวกจากเงินลงทุนสุทธิโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าทั้งปี 2562 (ช่วงก่อนเกิดการระบาด) นอกจากนี้ การเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะมีรูปแบบเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) เป็นส่วนมาก (มีสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในช่วงปี 2565-2569)

อย่างไรก็ตาม ภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้ไทยจะมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 60 ประเทศแบบไม่ต้องกักตัวมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจยังมีข้อจำกัดเนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้หลายประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยยังมีมาตรการคุมเข้มการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 7.5 ล้านคน และกว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้ที่ 40 ล้านคน อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2568 ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศคาดว่าจะสามารถกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้เร็วกว่าคือในปี 2567 ที่ 160 ล้านทริป จากปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 90 ล้านทริป
“เรามองว่าแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าเดิมจากแรงส่งในหลายด้านทั้งภาคการบริโภคที่กลับมาเพิ่มขึ้นกลังเกิดความเชื่อมั่น เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ขณะที่ภาคการลงทุนก็คาดการณ์ขยายตัวได้ถึง 4% ได้ปีนี้ และ 4.6%ในปีหน้าซึ่งเป็นอัตราที่เราไม่ได้เห็นมานาน และที่เรามองการลงทุนเป็นหนึ่งในตัวหลักในการเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพราะมีภาคที่ก่อให้เกิดการหนุนให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับภาคอื่นๆ อาทิ การจ้างงาน เป็นต้น”

แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังกระจายไปไม่ทั่วถึง จึงยังมีความเปราะบางอยู่ โดยกลุ่มที่มองว่าฟื้นตัวได้เร็วและสามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดฯได้ในเร็วๆนี้ ก็เป็นกลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มค้าปลีก ขณะที่กลุ่มที่ฟื้นตัวได้ช้า ก็จะเป็นกลุ่มท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวที่เข้าในช่วงแรกๆ ก็น่าจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่ม Health medicine ซึ่งก็มีข้อดีที่ถือเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงและมีระยะเวลาการพักอยู่นาน ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักๆของไทยอย่างจีน ก็อาจจะมีปัญหาที่ประเทศต้นทางที่ยังไม่เปิดให้มีการออกนอกประเทศ จึงคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ระดับเดิมคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 ปี ดังนั้น จากการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน มาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจึงยังมีความจำเป็นอยู่แต่ควรเจาะจงในกลุ่มฐานรากที่มีรายได้ไม่สูง พร้อมกระตุ้นให้กลุ่มที่มีรายได้สูงมีการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะเราประเมินว่า กลุ่มรายได้มากกว่า 35,000 บาทต่อเดือนจะเป็นกลุ่มที่รายได้กลับมาสู่ระดับก่อนโควิดฯได้เร็ว รองลงมาเป็นกลุ่มรายได้ 20,000-35,000 บาทต่อเดือน และกลุ่ม 14,000-21,000 บาทต่อเดือนตามลำดับ

นายสมประวิณกล่าวอีกว่า ด้านความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยนั้น ก็ยังคงมีในส่วนของการกลับมาระบาดของโควิดฯภายหลังการเปิดประเทศ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณการฉีดวัคซีน ซึ่งเรามีสัดส่วนประชากรที่รับวัคซีนแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น แม้จะยังการติดเชื้ออยู่ ก็จะสามารถควบคุมการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ในระดับต่ำ และทำให้การเปิดเมืองยังทำได้ต่อเนื่อง

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้น มองว่ายังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง และยังมีแนวโน้มที่จะแตะระดับ 3%ได้ใน 2.8-3%ได้ในไตรมาสแรกปีหน้า แต่ก็ต่ำกว่าระดับรายได้เฉลี่ยทั้งปีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5%ในปีหน้า นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเกิดจากภาคอุปสงค์ที่มีความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ราคาน้ำมัน หรือสินโภคภัณฑ์ เพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีการปรับระดับการผลิตต่างๆได้เพิ่มขึ้นก็เข้าสู่ภาวะสมดุลได้ ดังนั้น จึงเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังทรงตัวในระดับเดิมที่ 0.50%ไปตลอดปีหน้า